กองทุนประกันสังคม
นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง เป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน และเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้นต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เช่นกัน นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างและนำส่งเงินสมทบส่วนของนายจ้างในจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างทั้งหมดถูกหักรวมกัน พร้อมจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 หรือจัดทำข้อมูลลงแผ่นดิสเก็ต หรือส่งทางอินเตอร์เน็ต
โดยนำส่งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์
เป็นเงินสดหรือเช็ค ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือชำระเงินผ่าน
> ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ
> ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
> ธนาคารธนชาต สาขาในจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่
กองทุนเงินทดแทน
กองทุนเงินทดแทนมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนในการจ่ายเงินทดแทนนายจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือตายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือเจ็บป่วยเป็นโรค ซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง
โดยให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนลูกจ้าง ซึ่งหมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
** นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน **
การเรียกเก็บเงินสมทบและการคำนวณเงินสมทบ
1. ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเป็นรายปี
2. เงินสมทบให้คำนวณจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปี คนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี
- กำหนดอัตราเงินสมทบตามความเสี่ยงภัยของกิจการของนายจ้าง
- เมื่อชำระเงินสมทบติดต่อกัน 3 ปีที่ 4 จะคำนวณหาอัตราการสูญเสีย เพื่อหาค่าอัตราเงินสมทบตามประสบการณ์
และนำมาเรียกเก็บในปีที่ 5 หากนายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยในการทำงานจะได้รับการลดอัตราเงินสมทบ
หากไม่ดูแลเรื่องความปลอดภัยจะต้องถูกต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบ
การเพิ่มหรือลดจะคิดเพิ่มลดจากอัตราเงินสมทบหลักของนายจ้าง
- นายจ้างที่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนชำระเงินสมทบเป็นงวดจะต้องจ่ายเงินฝากไว้จำนวนร้อยละ 25 ของเงินสมทบโดยประมาณทั้งปีภายในเดือนมกราคม
และจ่ายเงินสมทบเป็นรายงวด 4 งวด ภายในเดือนเมษายน กรกฎาคม ตุลาคม และมกราคมของปีถัดไป
- ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีนายจ้างต้องแจ้งจำนวนค่าจ้างทั้งหมดของปีที่ล่วงมาแล้วที่จ่ายจริงให้แก่ลูกจ้างตามแบบที่กำหนด
เพื่อคำนวณเงินสมทบที่ถูกต้องและนำส่งเงินสมทบที่ชำระต่ำไปภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี
เงินเพิ่ม: กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบภายในกำหนด หรือจ่ายไม่ครบ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ค้างชำระ
การคืนเงินนายจ้าง: นายจ้างที่จ่ายเงินสมทบ หรือเงินเพิ่มเกินกว่าความเป็นจริงจากสาเหตุต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งให้นายจ้างทราบ เพื่อมารับเงินส่วนที่เกินคืนไป
เงินทดแทน: หมายถึง เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทนการทำงาน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานและค่าทำศพ โดยมี 4 ประเภท ได้แก่
1. ค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกิน 3 วัน จากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2. ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย.
3. ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ
4. ค่าทดแทนกรณีตายหรือสูญหาย
สิทธิได้รับเงินทดแทนภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง:
กรณีที่การเจ็บป่วยเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างให้นายจ้างยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งการเปิดเผยข้อเท็จจริงของนายจ้างที่พึงสงวนไว้ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทนอาจมีโทษทั้งจำและปรับ