ในการประกอบกิจการ สถานประกอบกิจการ อาคาร ห้างร้าน โรงงาน โกดังสินค้า รวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องไม้เครื่องมือ รถยนต์ ล้วนเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในการทำให้กิจการดำเนินไปได้ตามปกติ
หากเกิดอุบัติภัย เหตุไม่คาดการณ์ต่างๆ ขึ้น เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรืออุบัติเหตุต่างๆ ย่อมสามารถส่งผลเสียหายต่อกิจการอย่างมหาศาล ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้าง การซ่อม แก้ไข ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การทำประกันภัย ป้องกันทรัพย์สินของบริษัท เป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
การทำประกันภัยทรัพย์สิน คือ การที่ผู้รับประกัน ตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หากทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้เกิดความสูญเสีย โดยหลักการของประกันภัย จะชดเชยให้ไม่เกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ในการทำประกันภัยทรัพย์สินของกิจการ สิ่งสำคัญ คือ การประเมินมูลค่าทรัพย์ที่จะทำประกัน การทำประกันต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินจริง จะทำให้เกิดปัญหาหากเกิดเหตุขึ้น เช่น หากกิจการมีโรงงานมูลค่า 200 ล้านบาท แต่ทำทุนประกันไว้เพียงแค่ 100 ล้านบาท เนื่องจากต้องการประหยัดเบี้ยประกัน หากเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานไปครึ่งหนึ่ง กิจการจะได้รับเงินสินไหมทดแทนจา บริษัทประกันเพียงแค่ 50% ของทุนประกันที่ทำ หรือเท่ากับ 50 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ได้รับ 100 ล้าน ตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
การประกันภัยทรัพย์สินของกิจการ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance) แบ่งเป็น
1.1 การประกันอัคคีภัย
คือการประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้หุงต้ม หรืออุปกรณ์ให้แสงสว่าง
1.2 การประกันอัคคีภัยและภัยพิบัติ
คือการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองในเรื่อง ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยพิบัติ (น้ำท่วม ลมพายุ หรือแผ่นดินไหว) เพิ่มเติมขึ้นจากความคุ้มครองเรื่องอัคคีภัย ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
2. การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance) แบ่งเป็น
2.1 การประกันภัยรถภาคบังคับ
คือการประกันภัยรถประเภทที่กฎหมายให้เจ้าของรถซึ่งใช้หรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย เพื่อให้เกิดความคุ้มครองแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชนที่ประสบภัยเป็นสำคัญ
2.2 การประกันภัยรถภาคสมัครใจ
คือการประกันความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์ ซึ่งได้แก่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ ความเสียหายที่รถยนต์ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น โดยแบ่งประเภทของความคุ้มครองดังนี้
(1) ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกและผู้โดยสารในรถ (Third Party Bodily Injury : TPBI)
(2) ความคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (Third Party Property Damage : TPPD)
(3) ความคุ้มครองความรับผิดต่อความเสียหายของตัวรถยนต์ (Own Damage : OD)
(4) ความคุ้มครองความรับผิดต่อความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์ (Fire and Theft : F& T)
ประเภทกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จำแนกเป็น
1. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (Comprehensive)
คุ้มครองครบทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวข้างต้น
2. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 (Third Party, Fire and Theft)
คุ้มครองตามข้อ (1) (2) และ (4)
3. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 (Third Party Liability Only)
คุ้มครองตามข้อ (1) และ (2)
ทีมงานที่ปรึกษาของ FTA Consulting พร้อมให้บริการให้คำแนะนำในการเลือกแผนประกันที่เหมาะสม ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันในการดำเนินการเรื่องการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อให้สามารถทำทุนประกันได้เหมาะสมพอดีกับมูลค่า ทำการเปรียบเทียบ หาข้อเสนอที่ดีที่สุดจากบริษัทประกัน รวมถึงการดูแลบริการ อำนวยความสะดวกเรื่องการเคลมกรณีที่เกิดอุบัติภัยที่ไม่คาดคิดขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางใจได้ ว่าทรัพย์สินของกิจการของท่าน จะได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมและเพียงพอ หากเกิดเหตุใดๆ ก็ตาม ก็ยังสามารถนำเงินสินไหมชดเชยมาแก้ไข ฟื้นฟู ให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้