การวางแผนภาษี

การวางแผนภาษี

 
“ภาษี” ถือเป็นรายจ่ายส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา เพราะนอกจากภาษีเงินได้ประจำปีที่ต้องจ่ายแล้ว เรายังต้องจ่ายภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกครั้งที่จับจ่ายใช้สอย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภาษีเฉพาะเมื่อต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปีเท่ากัน ทั้งที่จริง เราจ่ายภาษีทุกวัน ภาษีของเราก็คือรายได้ของรัฐบาลจะนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ

วัตถุประสงค์ ของการวางแผนภาษีอากร


การวางแผนภาษีอากรมักนิยมกระทำในกิจการที่มี่รายได้  และมาตรฐานในการดำเนินงานสูง หรือในกิจการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจากระบบการบริหารภายในครอบครัว ( Family  Company ) ไปสู่ความเป็นกิจการมหาชน ( Public Company ) เพราะมีความคุ้มค่าในการดำเนินการวางแผนภาษีอากรต่อธุรกิจประเภทนั้น อย่างไรก็ตาม ในธุรกิจขนาดเล็กอาจใช้การวางแผนภาษีอากรเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องในอันที่จะลดทอนปัญหาทางภาษีอากร  และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โดยทั่วไปการวางแผนภาษีอากรมีวัตถุประสงค์สำคัญดังนี้
 
 


 
2.1 เพื่อให้การเสียภาษีอากรของกิจการที่วางแผนภาษีอากรเป็นไปโดยถูกต้องครบถ้วน

ตามที่กฎหมายกำหนดบัญญัติ หากแต่จำนวนเม็ดเงินภาษีที่ต้องเสียนั้น ต้องเป็นจำนวนน้อยที่สุด หรือประหยัดที่สุด โดยไม่อาศัยการหลีกเลี่ยงภาษีอากร วัตถุประสงค์ข้อนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนภาษีอากรหรือการแก้ปัญหาภาษีอากรที่ถูกต้องโดยเริ่มจากการมีแนวคิดที่ถูกต้องต่อการเสียภาษีอากรซึ่งถือเป็นปณิธานหรือข้อผูกพันของผู้บริหารระดับสูง (Commitment) ที่ต้องกำหนดให้มีตั้งแต่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย

2.1.1 มีความต้องการที่จะเสียภาษีอากรให้ถูกต้องครบถ้วน และไม่ปฏิบัติการใดๆ อัน เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ด้วยสำนึกในหน้าที่เกี่ยวกับการเสียภาษีอากรเป็นของตนเองที่มีต่อสังคม โดยการบันทึกรับรู้รายได้และรายจ่ายให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกรายการตามมาตรฐานการบัญชี และหลักเกณฑ์ทางภาษีอากร โดยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความสะดวกต่อการปฏิบัติในการบันทึกรายการทางบัญชี เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตรวจพบการกระทำความผิด

2.1.2 ปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรอย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดบัญญัติไว้ อาทิ การจดทะเบียน การจัดทำบัญชีและเอกสารหลักฐาน การยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีอากร

2.1.3 ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในอันที่จะขจัดผู้ทุจริตโกงภาษีอากร

 


 
2.2 เพื่อให้ขจัดปัญหาในการเสียภาษีอากรของกิจการที่อาจเกิดขึ้นในทุกกรณี

ทั้งนี้ เพราะภาษีอากรที่ธุรกิจพึงต้องเสียมีหลายประเภท ซึ่งในแต่ละประเภทมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป การวางแผนภาษีอากรจะเป็นเครื่องชี้ทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ธุรกิจ นอกเหนือไปจากการเสียภาษีอากรให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภาษีอากรที่อาจมีขึ้นในอนาคต
ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขทางภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะช่วยให้เสียภาษีอากรได้โดยถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นจำนวนน้อยที่สุดแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่ดี ซึ่งเป็นการลดทอนปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี



2.3 เพื่อประหยัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีอากรประเภทใด ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาแต่การเสียภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องทั้งหลายดังกล่าว อาทิ

2.3.1 เบี้ยปรับ เป็นเงินที่ต้องชำระเพิ่มนอกเหนือจากเงินภาษีอากร เนื่องจากผู้ประกอบการชำระภาษีอากรขาดไป หรือน้อยกว่าจำนวนที่พึงต้องเสีย หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายในบางกรณี

2.3.2 เงินเพิ่ม เป็นเงินที่ต้องชำระเพิ่มนอกเหนือจากเงินภาษีอากร เนื่องจากผู้ประกอบการชำระภาษีอากรล่าช้า หรือชำระเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้

2.3.3 ค่าปรับทางอาญา เป็นเงินที่ต้องชำระเนื่องจากการที่ผู้ประกอบการจงใจ ฝ่าฝืน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ดังนั้น การเสียภาษีอากรที่ประหยัดที่สุด จึงหมายถึง การเสียภาษีอากรให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักการวางแผนภาษีอากรที่ดี และกล่าวโดยเฉพาะสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะนำรายจ่ายค่าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือค่าปรับทางอาญาตามประมวลรัษฎากร อันเกิดจากการเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนมาถือเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ประกอบการจึงควรหลีกเลี่ยงรายจ่ายที่เกิดจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง

 

2.4 เพื่อลดต้นทุนการดำเนินกิจการหรือเพิ่มกำไรสุทธิ โดยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

อาทิ

2.4.1 การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร  กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น

(1) การเลือกใช้หน่วยทางภาษีอากร เพื่อให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนน้อยที่สุด

(2) การใช้สิทธิเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินจากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ

(3) การใช้สิทธิเกี่ยวกับเครดิตภาษี สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ตามมาตรา 47 ทวิ

(4) การใช้สิทธิเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้น

(5) การใช้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่าย

(6) การใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน

(7) การใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้

(8) การให้ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นคู่สัญญาออกภาษีเงินได้แทนตน




ต้องการอ่านเอกสารเพิ่มเติม คลิกที่ -> ดาวน์โหลด 

Shared :