ระบบอัจฉริยะเชื่อมธุรกิจ

ระบบอัจฉริยะเชื่อมธุรกิจ

March 28 ,2022

ระบบอัจฉริยะเชื่อมธุรกิจ-สถาบันการเงิน เปิด 5 เทรนด์ใหม่การเงินอนาคต

         
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านประกันภัยและการเงินของกลุ่มทีซีซี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาคการเงินของไทยปรับตัวรับมือกับกระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีได้ดี โดยอัตราการใช้โมบายแบงกิ้ง หรือธนาคารมือถือของคนไทยเป็นอันดับต้นๆของโลก อย่างไร ก็ตาม อุตสาหกรรมการเงินจะเปลี่ยนไปอีก โดยจะเห็น 5 เทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นที่คนไทยควรเรียนรู้ 

 






 
อันดับที่ 1 คือ Autonomous Finance หรือภาคการเงินอัจฉริยะ

เหมือน Autonomous Car หรือรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ ในภาคการเงิน จะเห็นการให้บริการทางการเงินด้วยระบบอัจฉริยะ เช่น ถ้าปกติเงินเดือนจะเข้าบัญชีของเราทุกวันที่ 25 ของเดือน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ทุกวันที่ 10 ผ่อนบ้านทุกวันที่ 13 และจ่ายบัตรเครดิตทุกวันที่ 20 และคุณโอนเงินให้พ่อแม่ทุกวันที่ 30 ของเดือน Autonomous Finance จะเข้ามาช่วยวางแผนการใช้จ่าย โดยบอกคุณได้ล่วงหน้าว่าคุณมีเงินพอหรือไม่ในบัญชี หากไม่พอจ่ายก็จะเสนอให้คุณยืมเงินสำรองจ่ายก่อน 5-10 วันก่อนที่เงินเดือนคุณจะเข้า โดยคิดดอกเบี้ยที่ถูกว่าตลาดเป็นรายวัน เพราะรู้ว่าจะมีเงินเข้ามาในวันที่ 25 เป็นต้น


อันดับที่ 2 คือ IOT (Internet of Thing)

โดยสถาบันการเงินจะนำข้อมูลเชิงพฤติกรรมมาใช้ประโยชน์ เช่น ข้อมูลการเดินทาง การใช้แอปพลิเคชันต่างๆจากข้อมูลที่ได้จากมือถือ พฤติกรรมการขับขี่รถ ความเร็ว การเบรก จากข้อมูลสมองกลในรถ ผสมกับข้อมูลส่วนตัว เช่น ในสมาร์ทวอทช์ ที่บันทึกพฤติกรรมการออกกำลังกาย รูปแบบการหายใจ ความดัน การเต้นของหัวใจ แล้วเอามาวิเคราะห์ผล สุขภาพ เพื่อเสนอเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันชีวิตอย่างเหมาะสม


อันดับที่ 3 คือ Banking as a Service 

ซึ่งจะเป็นบริการใหม่ ที่สถาบันการเงินจะให้ผู้บริโภคใช้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในลักษณะต่อเชื่อมอัตโนมัติ เช่น การเปิดบัญชีธนาคารผ่านแอปกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ การสั่งซื้อประกันหรือขอสินเชื่อผ่านอีคอมเมิร์ซ การให้สินเชื่อขนาดเล็กของสถาบันการเงินที่ร่วมมือกับแอปส่งอาหาร การขอสินเชื่อบ้านผ่านเว็บไซต์ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือชำระค่าเทอมผ่านเว็บไซต์โรงเรียน

อันดับที่ 4 คือ Connected Finance

คือ การที่บริการทางการเงินถูกเชื่อมกับอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ ผ่าน Connected Car Platform ซึ่งจะทำให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินจากรถยนต์ เช่น ถึงเวลาต่อประกัน หรือ พ.ร.บ.รถจะแจ้งเตือน หรือช่วยสั่งอาหาร ชำระเงินและแวะรับระหว่างทางได้ ตู้เย็น ที่สามารถบอกได้ว่าของอะไรหมด และสามารถสั่งซื้อของใช้จากตู้เย็นหรือผ่านแอปในมือถือที่เชื่อมต่อกับตู้เย็นของเราได้ หรือขณะดูทีวีดู โฆษณาสินค้า สามารถใช้คำสั่งเสียงสั่งซื้อของที่สนใจผ่าน e-commerce แพลตฟอร์มได้ทันที

รวมทั้งระหว่างฟังข่าวหรือข้อมูลที่น่าสนใจ เราจะสามารถดูพอร์ตการลงทุนได้ว่า ควรลงทุนเพิ่มหรือลดการลงทุนตรงไหน และสามารถสวิตช์จากหน้าจอข่าวเข้าสู่แอปทางการเงินทันที ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น Google Home หรือสมาร์ททีวีได้ 


อันดับที่ 5 คือ Digital Currency หรือเงินสกุลดิจิทัล

ทั้งที่ออกโดยเอกชน เช่น Libra ของเฟซบุ๊ก หรือ Digital Yuan: ดิจิทัลหยวน ของธนาคารกลางจีน ที่จะออกให้ประชาชนคนทั่วไปใช้ได้เสมือนเงินสด อย่างไรก็ตาม คงยังจะทดแทนเงินสดไม่ได้ในขณะนี้ แต่มีความเป็นไปได้เข้ามาใช้แทนการชำระเงินด้วยเงินสดหรือด้วยบัตรเครดิตในอีกไม่ช้า เราอาจจะเห็นองค์กรภาคธุรกิจใหญ่ ออกเหรียญ (coin) ของตัวเอง เพื่อใช้จ่ายกันภายในและให้พันธมิตรคู่ค้า หรืออาจจะเห็นศิลปิน ดารา นักร้อง อาจจะมี Digital Token ส่วนตัวที่ให้แฟนคลับเอาไว้ใช้เพื่อทำกิจกรรมโดยตรงระหว่างศิลปินและแฟนคลับ เช่น ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ของที่ระลึก หรือใช้บริจาคในกิจกรรมการกุศล


Shared :