การวางแผนประกันวินาศภัย
ประกันวินาศภัย (Non-life Insurance) หมายถึง การที่ “ผู้รับประกันภัย”ทำสัญญายินยอมตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีเกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ ซึ่งความเสียหายนั้นสามารถประเมินมูลค่าหรือกำหนดเป็นวงเงินได้ รวมทั้งความเสียหายจากการสูญเสียในสิทธิผลประโยชน์หรือรายได้ โดย “ผู้เอาประกันภัย” ต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัย
การทำประกันวินาศภัยมีประโยชน์หลายประการ เช่น
1. ให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สิน
2. ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ
3. ช่วยลดภาระแก่สังคมและรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือ
4. ช่วยระดมทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ
ประเภทของการประกันวินาศภัย ได้แก่
1. การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)
เป็นประกันที่คุ้มครองทรัพย์สินจากเหตุไฟไหม้ ฟ้าผ่า รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรที่เกิดจากฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สหุงต้มหรือแก๊สที่ใช้ทำแสงสว่างเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย ภัยจากการเฉี่ยวชนของยานพาหนะ โดยสามารถเอาประกันได้ทั้งสังหาริมทรัพย์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม สต๊อกสินค้า เครื่องจักร ฯลฯ และอสังหาริมทรัพย์ประเภทสิ่งปลูกสร้าง นอกจากนี้ผู้เอาประกันยังยังสามารถซื้อความคุ้มครองอื่นๆ ได้ เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ หรือภัยแผ่นดินไหว เป็นต้น
2. การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance) แบ่งเป็น
เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ได้แก่ ความเสียหายต่อตัวรถ ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ให้ความคุ้มครองผู้ขับขี่รถยนต์ ผู้โดยสาร รวมถึงบุคคลภายนอกที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยแบ่งออกเป็น
- การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ การทำ พ.ร.บ. รถยนต์ ที่เจ้าของรถยนต์ทุกคนจำเป็นต้องมี
- การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่มีความคุ้มครองหลากหลายประเภท เช่น ประกันภัยรถยนต์ชั้น1 ที่คุ้มครองทุกความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ หรือประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+ ที่คุ้มครองเพียงบางกรณี เป็นต้น
3. การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance)
คือการประกันภัยที่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเรือ ทรัพย์สินหรือสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล และยังขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางบกซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ การประกันภัยตัวเรือ (Marine Hull Insurance) และ การประกันภัยสินค้า (Marine Cargo Insurance)
4. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance)
คือการประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากเหตุอื่นที่มิได้คาดหมายไว้ เช่น การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance) การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Liability Insurance) การประกันภัยเครื่องจักรชำรุดเสียหาย
การเรียกร้องค่าสินไหม
เมื่อมีความเสียหายเกิด ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ ดังนี้
1. แจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้า
2. ส่งหลักฐานภายใน 30 วันนับตั้งแต่เสียหาย
3. ยอมให้บริษัทดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกันมิให้ความเสียหายเพิ่มขึ้น
4. ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข บริษัทอาจไม่ชดใช้ค่าเสียหาย
ผู้รับประกันภัยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ในกรณี
1. ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง
2. ความไม่สมประกอบแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย
3. เป็นข้อยกเว้นที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย